ถ้าเปรียบเทียบเทคโนโลยีในอดีตมาจนถึงยุคปัจจุบัน เราจะเห็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีด้านต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร เพราะคุณภาพการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์การสื่อสารนั้นมีแพร่หลายมากขึ้น และมันสามารถอำนวยความสะดวกได้อย่างน่าเหลื่อเชื่อ รวมถึงในด้านการแพทย์ที่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีต่างๆ ในการตรวจโรค ซึ่งก็ได้มีการพัฒนาเครื่องมือมาโดยตลอด ทั้งการใช้อวัยวะเทียม หุ่นยนต์ผ่าตัด การเก็บข้อมูลจากแอพพลิเคชั่น และอื่นๆ อีกมากมาย วันนี้เราจะนำเสนออีกความก้าวหน้าหนึ่ง ที่เทคโนโลยีการสื่อสารจะช่วยอำนวยความสะดวกและเหมาะกับคนในยุคปัจจุบันมากๆ นั่นคือ Telemedicine หรือ แพทย์ทางไกล นั่นเอง
แล้วแพทย์ทางไกลคืออะไร? หมายถึงหมอมาตรวจถึงที่บ้านเลยหรือเปล่า?
แพทย์ทางไกล (Telemedicine) คือ การตรวจหรือพูดคุยปรึกษาปัญหาสุขภาพระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ โดยตรวจผ่าน Video Conference หรือ Video Call จากอุปการณ์การสื่อสารต่างๆ และสามารถพูดคุยโต้ตอบแบบ real time ได้ เหมือนกับการเปิดกล้องคุยกันทางโทรศัพท์กับเพื่อน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย สะดวกสบาย และไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปโรงพยาบาลหรือคลีนิกอีกด้วย
Telemedicine ถูกสร้างขึ้นเพื่อลดช่องว่างในการรักษา ให้มีการรักษาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ไม่สะดวกในการเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาล และสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกรอคิวนานๆ เพื่อจะพบแพทย์ เหมาะกับผู้ที่กำลังรักษาโรคเรื้อรัง อาการทางจิตเวช หรือผู้ที่อาการไม่หนัก โดยสามารถรายงานอาการเป็นระยะ หรือปรึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงโรงพยาบาลก็ได้ ส่วนการฟังผลตรวจก็สามารถรับฟังผลจากที่บ้านโดยการ Video Call ได้เช่นกัน
ด้วยสถานการณ์ Covid-19 ในปัจจุบัน เราจึงควรใช้ชีวิตแบบ New Normal เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ การใช้ Telemedicine จึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์อย่างมาก
Telemedicine เพิ่งมีตอนช่วง Covid-19 เหรอ?
จริงๆ มีมานานมากแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960
การใช้ระบบ Telemedicine เริ่มใช้ในสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี ค.ศ. 1960 โดยได้พัฒนามาพร้อมๆ กับระบบการสื่อสารโทรคมนาคม แต่ด้วยความที่สมัยนั้นเทคโนโลยีต่างๆ นั้นมีค่าใช้จ่ายสูงและประสิทธิภาพยังไม่เพียงพอที่จะใช้งานได้สะดวก จึงไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1990 ระบบ Telemedicine ได้มีบทบาทต่อการแพทย์อย่างมาก และจากนั้นก็ได้เปลี่ยนจากยุค analog เป็นยุค digital ที่อุปกรณ์เทคโนโลยีด้านการสื่อสารมีราคาถูกลง ทำให้เข้าถึงระบบ Telemedicine ได้สะดวกขึ้น
ในปัจจุบัน หลายๆประเทศทั่วโลกได้ใช้ระบบ Telemedicine มากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราการเติบโตของระบบนี้ถึง 19.2% (จากปี พ.ศ. 2562-2563) และในประเทศเยอรมนีที่ Telemedicine ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย ในประเทศจีนก็มีผู้ใช้บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์รายใหม่ถึง 900% ในไม่กี่เดือน และในไต้หวันก็ได้พัฒนาระบบการรักษาออนไลน์นี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มี platform ที่จัดการสุขภาพผู้ป่วยได้ดีจนเป็นที่นิยมมากขึ้น ส่วนในประเทศไทยนั้นมีเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของ Covid-19 โดยกระทรวงสาธารณะสุขก็มีการทำโครงการที่สนับสนุนระแบบ Telemedicine และในช่วงสองเดือนที่เปิดให้บริการก็มีคนลงทะเบียนประมาณ 4,000 ราย นอกจากนั้นในช่องทาง Line คลีนิกออนไลน์ และ Application ต่างๆ ก็ยังมีผู้สนใจรับบริการมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับผู้ที่สนใจ สู่ฝันได้รวบรวม Application ต่างๆ มาให้ ดังนี้
แต่การใช้ระบบ Telemedicine ก็มีข้อจำกัดอยู่ นั่นคือ ในการตรวจโรคทั่วไป แพทย์จะให้คำแนะนำได้เพียงเบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์ในการรักษา การใช้ Telemedicine เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังที่เคยตรวจกับแพทย์ที่โรงพยาบาลแล้วต้องการการติดตามผล และโรคสุขภาพจิตที่เพียงพูดคุยอาการกันก็พอจะวินิจฉัยได้ ส่วนโรคทั่วไปนั้นจะเป็นการปรึกษาเรื่องสุขภาพ บรรเทาอาการ ปรึกษาเรื่องยา หรือปรึกษาว่าควรจะรักษาต่อไปด้วยตนเองอย่างไร แต่ถ้าตรวจอาการแล้วพบว่าน่าสงสัยหรือรุนแรง แพทย์ก็สามารถส่งต่อให้โรงพยาบาลต่อไปได้เช่นกัน
สรุป
Telemedicine เป็นทางเลือกใหม่ในการตรวจร่างกายที่น่าสนใจและสะดวกสบายมาก แม้ว่ามันจะยังแทนการไปตรวจกับแพทย์ที่โรงพยาบาลไม่ได้ 100% แต่ก็ช่วยบรรเทาอาการได้มากทีเดียว เพียงแค่คุณมีอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์การสื่อสาร ไม่ว่าจะอยู่ไกลหรือเดินทางลำบากแค่ไหน ก็สามารถเข้าถึงการตรวจรักษาจากแพทย์ได้เช่นกันครับ ยิ่งในปัจจุบันมีการระบาดของ Covid-19 เช่นนี้ การไม่ไปแออัดกันที่โรงพยาบาลก็เป็นสิ่งที่ควรทำ และถึงแม้สถานการณ์ Covid-19 จะจบลง เราเชื่อว่าการใช้ระบบ Telemedicine ในประเทศไทยและทั่วโลกต้องมีเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน
อ้างอิง: