โรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) เป็นภาวะผิดปกติในขณะที่เรากำลังนอนหลับ ซึ่งเกิดจากอวัยวะส่วนบนของช่องทางเดินหายใจตีบแคบจนหายใจลำบาก และบางทีก็ตีบแคบมากจนไม่สามารถหายใจได้ หรือหยุดหายใจไปเลยก็ได้
สู่ฝันจึงอยากให้ทุกคนรีบเช็คอาการหรือสัญญาณเบื้องต้นของโรคนี้ เพื่อที่จะได้แก้ไขและรักษาให้ทันเวลาก่อนที่จะสายเกินไป มาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง ทั้งลักษณะของคนที่เสี่ยงและจะรับมือกับภาวะนี้อย่างไร
สัญญาณเบื้องต้นของโรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- นอนกรนบ่อยหรือนอนกรนเสียงดังมากๆ
- หายใจแรงหรือกรนดังเฮือก สลับกับหยุดหายใจไปสักพัก
- ตื่นขึ้นมากลางดึก เพราะหายใจแรงหรือสำลักน้ำลาย
- ฝันผวา ฝันร้าย
- ละเมอ
- ปวดฉี่กลางดึก
- ปวดหัวหลังจากตื่นนอนยามเช้า
- ง่วงนอนและเพลียตลอดทั้งวัน
- ไม่มีสมาธิ จนส่งผลกระทบกับงานหรือการเรียน
ลักษณะของคนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- คนที่มีน้ำหนักตัวมาก พบว่า 60% ของคนที่เป็นโรคนี้เป็นคนอ้วน เพราะมีไขมันในช่องคอมาก จนทำให้ช่องทางเดินหายใจตีบแคบ
- คนที่ดื่มสุราและสูบบุหรี่จัด พบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายเพราะมักจะมีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่มากกว่า
- คนที่มีอาการคัดจมูก อาจเกิดจากโพรงจมูกบวมจนช่องทางเดินหายใจตีบแคบ หรือเกิดจากโครงสร้างจมูกที่ผิดปกติจนทำให้หายใจลำบาก
- คนที่มีกรรมพันธุ์เป็นคนนอนกรน หากมีคนในครอบครัวเป็นคนนอนกรน เราก็มีความเสี่ยงที่จะนอนกรนเช่นกัน และนั่นทำให้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากกว่าคนปกติ
- คนสูงวัย เมื่อแก่ตัวไปก็มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระต่างๆ ตามอายุ เช่น มีสัดส่วนไขมันมากขึ้น แต่สัดส่วนกล้ามเนื้อกลับน้อยลง และทำให้ช่องคอหย่อนคล้อยจนช่องทางเดินหายใจตีบแคบ ทำให้หายใจลำบาก
- คนที่เป็นโรคต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงบางชนิด
หากคุณเช็คสัญญาณและลักษณะตามข้างต้น แล้วคุณยังไม่มีสัญญาณเตือนของโรคนี้อย่างชัดเจน อาจจะเป็นเพราะอาการของคุณยังไม่อยู่ในขั้นรุนแรง ดังนั้นคุณสามารถแก้ไขและป้องกันไม่ให้อาการของคุณรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นโรคนี้ได้ โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคุณเอง
ทำอย่างไรได้บ้าง… เพื่อแก้ไขและป้องกันไม่ให้เสี่ยงโรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- ลดหรือควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์พอดี (ดูจากค่า BMI)
- ปรับท่านอนให้เป็นท่านอนตะแคง
- พยายามนอนหลับให้เป็นเวลาจนติดเป็นนิสัย และนอนหลับให้เต็มอิ่ม
- พยายามออกกำลังกายให้เป็นเป็นประจำ
- ไม่ควรดื่มชา กาแฟในช่วงบ่าย เพราะจะทำให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืน
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยากล่อมประสาทและยานอนหลับ
แต่หากคุณเช็คสัญญาณและลักษณะตามข้างต้น แล้วอาการของคุณตรงตามลักษณะของโรคนี้อย่างชัดเจน คุณควรไปพบแพทย์และรักษาตามวิธีที่แพทย์แนะนำ ซึ่งวิธีการรักษาก็มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
วิธีรักษาโรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
เมื่อไปพบแพทย์แล้ว แพทย์มักจะให้ทำ Sleep Test ก่อน เพื่อตรวจและประเมินการทำงานของร่างกายขณะหลับว่าอยู่ในระดับไหน รุนแรงแค่ไหน เมื่อได้ผลการประเมินแล้ว แพทย์จะแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสมให้กับคุณ
- รักษาด้วยเครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก (Continuous Positive Airway Pressure หรือ CPAP) เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดและได้รับความนิยมมากที่สุด สามารถรักษาอาการได้ทุกระดับอีกด้วย
- รักษาด้วยอุปกรณ์ทางทันตกรรม เป็นวิธีที่ใช้เครื่องมือช่วยให้ทางเดินหายใจเปิดกว้างมากขึ้น และสามารถจัดการกับสภาพหย่อนคล้อยในช่องคอขณะหลับ วิธีนี้เหมาะกับคนที่มีอาการไม่รุนแรงมาก
- รักษาด้วยการใช้ยา วิธีนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุการตีบแคบในช่องคอของผู้ป่วย แพทย์จำเป็นต้องรู้สาเหตุก่อน เพื่อเลือกยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย หรือประเมินว่าวิธีใช้ยานั้นเหมาะกับผู้ป่วยหรือไม่
- รักษาด้วยการผ่าตัด หากวิธีข้างต้นไม่ทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น วิธีการผ่าตัดจะเป็นหนทางสุดท้ายที่แพทย์จะเลือกใช้ วิธีนี้เหมาะกับคนที่มีอาการรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก
โรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก และหากไม่รู้ตัวว่ากำลังเป็นโรคนี้อยู่ก็ยิ่งอันตราย ดังนั้นหากคุณมีสัญญาณเตือนของโรคนี้ตามที่ได้อ่านข้างต้น และก่อนที่จะสายเกินไป คุณควรรีบไปทำ Sleep Test โดยเร็ว เพื่อรับการประเมินจากแพทย์ว่าอาการของคุณอยู่ระดับไหน จากนั้นแพทย์จะแนะนำวิธีการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับคุณ
อ้างอิง